Make up your mind before you become a restaurant owner!
ข้อควรทราบและทำใจก่อนเป็นเจ้าของร้านอาหารไทย
ค่อนข้างจะเครียดหน่อยนะคะประเด็นนี้ (ขอเตือนก่อนอ่าน)
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเคยเขียนหัวข้อเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของร้านอาหารต้องทำตามขั้นตอนอย่างไรทางกฏหมายรวมถึงการติดต่อกับหน่วยงานราชการท้องถิ่น เพื่อขอทะเบียนการค้าต่างๆ ให้เรียบร้อยในการเปิดธุรกิจร้านอาหาร. มีหลาย ๆ ท่าน เมื่อเข้าไปทำธุรกิจร้านอาหารแล้วอาจจะผิดหวังบ้าง เมื่อผลกำไรไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ หรือ มีอุปสรรคหลาย ๆ อย่างที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นแบบมิได้เตรียมตัวและเตรียมใจ. บางท่านถึงกับต้องปิดร้าน ขายร้านแบบถูก ๆ เพื่อออกจากธุรกิจนี้ไป. บางท่านประสบความสำเร็จด้านผลกำไร และขยายกิจการไปมากมายหลายสาขา.
คนที่เป็นเจ้าของร้านอาหารไทยส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่มีกรีนการ์ด หรือเป็นพลเมืองของอเมริกา หรือ ไม่ใช่ทั้งกรีนการ์ดหรือพลเมือง (สถานะทางกฏหมายตรวจคนเข้าเมืองขาด)** อเมริกาอนุญาตให้ต่างชาติ (ผู้ที่ไม่มีสถานะทางกฏหมาย และผู้ที่อยู่อาศัยต่างประเทศ)เป็นเจ้าของธุรกิจได้ในรูปแบบ LLC & Corp** และกลุ่มใหญ่ๆ อีกกลุ่มหนึ่งคือนักลงทุนจากเมืองไทย ที่มาด้วยวีซ่าลงทุนประเภทต่าง ๆ หรือมาด้วยวีซ่าประเภทอื่น ๆ และเปลี่ยนสถานะเป็นวีซ่านักลงทุน.
อยากเขียนหัวข้อนี้เพื่อเตือนสติท่าน ๆ ที่มีเงินทุนทั้งหลายที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารไทยในอเมริกา ว่าต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรบ้าง ในฐานะที่คลุกคลีกับกลุ่มที่เคยเป็นเจ้าของร้านอาหารไทย คนเคยทำงานร้านอาหารไทย และกลุ่มที่เป็นเจ้าของร้านอาหารไทยในปัจจุบัน มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ.
♣อุปสรรคที่เจ้าของร้านต้องเผชิญในฐานะผู้ประกอบการ (Obstacles)♣
เรียกว่าอุปสรรคเพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีส่วนทำให้กิจการไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
1.) Staffs พนักงานทำงานในร้านอาหาร ส่วนใหญ่ผู้ที่อยู่ในวงการร้านอาหารจะทราบดีว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน (ที่ถูกกฏหมาย) เพื่อทำงานในร้านอาหารมีมานานแสนนาน. พนักงานในร้านอาหารนับจากคนทำอาหาร จนกระทั้งผู้จัดการร้าน เกือบทุกร้าน ทุกรัฐ มีการจ้างคนไทย ทั้ง มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องและไม่มีใบอนุญาตทำงานได้ตามกฏหมาย.
เจ้าของร้านบางท่านจ้างพนักงานชาติอื่นๆ มาทำงาน แต่ก็ไม่รู้ถึงวัฒนธรรมและความเข้าใจ ส่วนประกอบของอาหารไทย. อย่างไรก็ตามเจ้าของร้านก็ต้องคอยควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิด.
มีกรณีล่าสุด ที่ทราบ (น้อง ๆ เล่าต่อมา) ว่า เจ้าของร้านอาหารไทย ที่ไม่ใช่คนไทย มาซื้อร้านอาหารไทยและดำเนินการต่อ แต่ไม่มีความรู้อย่างแท้จริง ถูกลูกค้าฟ้องค้า ฟ้องแบบว่า หั่นตระไคร้เล็กจัดติดคอ ประนีประนอมยอมจ่ายก่อนถึงศาล. ถ้าเป็นคนไทย คงทราบว่าจะไม่หั่นตระไคร้เล็ก ๆ หรอกค่ะ เพราะเราใส่ตระไคร้ เพื่อให้ได้รสชาติ ใช่ปะคะ กรณีคล้าย ๆ กัน กับพนักงานเสริฟฝรั่งที่ตอบปัญหาลูกค้าไม่ได้ก็เช่นกันทำให้ลูกค้าหงุดหงิด เสียลูกค้าไปเลย.
แนะนำ ให้เจ้าของร้านมีแผนสำหรับพนักงานไว้ให้เรียบร้อยก่อนเปิดร้านคะ หาคนที่ไว้ใจ หรือนักลงทุนจากไทย เพราะสามารถจ้างพนักงานทำอาหารมาจากไทย หรือผู้จัดการร้านจากไทยได้คะ
2.) Landlord หรือเจ้าของอาคารที่คุณเช่าเพื่อเปิดร้านอาหาร. ส่วนใหญ่เจ้าของตึกจะให้ผู้เช่าเซ็นสัญญาระยะยาวระหว่าง 3-7 ปี เพื่อความมั่นคงด้านการเก็บค่าเช่า. ทุกปี ค่าเช่าจะขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ หรืออัตราตลาด อยู่ที่ อย่างน้อย 3% บางครั้ง เจ้าของอาคารเดิม ขายอาคารให้เจ้าของคนใหม่ เจ้าของคนใหม่ ถือโอกาสเปลี่ยนแปลงนโยบาย ขึ้นค่าเช่า แบบละมุนละไม ได้ตามกฏหมาย และตามอัตราตลาด. ผู้เช่าทำอะไรไม่ได้มากมาย เพราะ ร้านอาหารกำลังรุ่งเรือง ฐานลูกค้าแน่น ก็ยอมจ่ายค่าเช่าเพิ่มแบบระทมขมขื่นจิตใจ.
ในกรณีทำสัญญาเช่าใหม่ เจ้าของตึกตรวจเครดิต ของผู้เช่าอย่างละเอียดถี่ถ้วนตั้งแต่ดูว่า มีทรัพย์สินเท่าไร เงินฝากเท่าไร หนี้เท่าไร หลาย ๆ ครั้ง เจ้าของอาคารต้องการผู้ค่ำประกันอย่างน้อย 1 คนพร้อมตรวจ Personal Financial Statement หรือข้อมูลทางการเงินแบบละเอียด.
มีเงินมากมายแต่ไม่มีเครดิต ใช่ว่าจะได้รับอนุมัตินะค้า คุณควรทราบว่าเจ้าของตึกส่วนมากเขาไม่สนใจคะ. สนใจใครเครดิตดี กลุ่มที่เจ้าของอาคารชอบมากคือ พวกทำงานมีเงินเดือนประจำ มีกิจการที่มีกำไร จ่ายภาษี แบบนี้คะ. จากที่เห็นมา มีผู้ค้ำประกันหลายท่านที่มีกิจการร้านอาหารแต่มีกำไร ปีละ $2,000 จากยอดขายปีละ $350,000 – $500,000 เป็นไปได้นะคะ เพราะแบบแสดงรายการภาษีระบุไว้แบบนั้น. ถามว่าเจ้าของตึกอนุมัติหรือเปล่า ไม่เลยคะ ต้องหาคนค้ำประกันเพิ่ม เสียเวลาทำมาหารับประทานกันไปเลย แถมบางครั้ง ต้องยกเลิกการซื้อขายร้านอาหารเพราะเครดิตนี่จริง ๆ เลยคะ.
แนะนำ ให้ท่าน ๆ ทั้งหลาย ทำรายได้ให้ดี สัก ปี สองปีก่อนซื้อกิจการร้านอาหาร หรือไม่ก็มีคนค้ำประกัน ที่มีเงินเดือนประจำ หรือมีกิจการที่มีกำไรจากการประกอบการ ตามแบบแสดงรายการภาษีนะคะคุณ ๆ ท่าน ๆ.
3.) Business Partners หุ้นส่วนทางธุรกิจ หลายๆ กรณีที่หุ้นส่วนทางธุรกิจสำคัญมาก ไม่ใช่เฉพาะนักลงทุนที่มาจากเมืองไทยที่ยังไม่มีเครดิต แม้กระทั้งคนที่นี่ ทำงานมีเครดิตดี ยังไงก็ต้องการหุ้นส่วนที่มีความสามารถในการบริหารงาน การทำอาหาร หรือมีประสบการณ์ร้านอาหาร หุ้นส่วนอาจจะเป็นเพื่อน ญาติ ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ เป็นไปได้ทุกกรณี สามีและภรรยาเป็นหุ้นส่วนได้เช่นกันคะ เช่นภรรยาเป็นเจ้าของร้านอาหาร สามีเป็นผู้ค้ำประกัน และมีหุ้นในกิจการบางส่วน.
หุ้นส่วนทางธุรกิจถือว่าเป็นเรื่องปกติในการดำเนินกิจการคะ ไม่ใช่แค่ร้านอาหารไทยคะ ธุรกิจส่วนใหญ่ฝรั่งเขาก็มีหุ้นกันคะ คนที่ทำคนเดียวคือ เขามีประสบการณ์มีทีมงานพร้อม มีเงินทุนมีเครดิตที่ดีคะ และที่สำคัญมีตลาดรองรับ หรือฐานลูกค้าที่แน่นอน.
เท่าที่ทราบธุรกิจคนไทยมากกว่าครึ่ง ที่ทำงานเรื่องกันจะมีปัญหา เพราะความไม่ชัดเจนด้านการบริหารการจัดการ การแบ่งผลกำไร ไม่ใช่แค่คนไทยนะ คะ คนไทยร่วมทำธุรกิจกับชาติอื่น ๆ ก็มีปัญหาคะ ขนาดเขียนสัญญาไว้ยังไม่ปฏิบัติตามเลยคะ. จะหาหุ้นส่วนพยายามหามืออาชีพคะ มืออาชีพ ในฐานะคุณเป็นมืออาชีพคุณมองออกคะ ว่าใครที่คุณควรทำธุรกิจด้วย
แนะนำ ว่าถ้าคุณไม่มีประสบการณ์ไม่มีเครดิต คุณควรหาหุ้นส่วนที่โปร่งใส ทั้งด้านการเงิน การจัดการ เพราะทำธุรกิจร่วมคะ โดยเฉพาะคนที่มาจากเมืองไทย จำเป็นอย่างมากคะ เพราะด่านแรกในการเช่าตึกความเป็นไปได้แทบไม่มีเลยถ้าไม่มีหุ้นส่วนที่นี่ที่มีประสบการณ์และมีเครดิตที่ดีคะ
4.) Startup cost & Operation cost ต้นทุนในการเริ่มกิจการ และต้นทุนในการดำเนินงาน. หลาย ๆ ท่านอาจจะทราบกว่าจะเปิดร้านอาหารเพื่อต้อนรับลูกค้า ขายอาหารจานแรกได้ ต้องผ่านด่านมหาโหดมากมาย ทั้งทาง ซิตี้ เค๊าตี้ รัฐที่เราทำกิจการ เพื่อขออนุญาตดำเนินการ. ติดโน่นติดต่อ ตรวจนี่ไม่ผ่าน ขาดโน่นขาดนี่. อันนี้หลังจากผ่านด่านเจ้าของตึกแบบว่าอนุมัติให้เช่าตึกได้นะคะ. ทราบนะคะหลังจากที่เราเซ็นสัญญากับเจ้าของอาคารแล้วเรามีหน้าที่จ่ายค่าเช่าอาคารทุกต้นเดือนคะ จะดำเนินการหรือไม่ก็ต้องจ่ายค่ะ. ข้อนี้แหละคะ ที่เจ้าของกิจการร้านอาหารที่เปิดใหม่ทุกร้านต้องรับภาระค่าเช่า อย่างต่ำ2-6 เดือนคะ กว่าร้านจะเรียบร้อย. 2 เดือนนี่ถือว่าเร็วมากๆ เลยนะคะ มากแบบติดจรวดเทอรบ์เลย 6 เดือนนี่คือนักลงทุนจากไทยคะ เพราะต้องรอสัมภาษณ์วีซ่า ไมผ่านเรียกเอกสารเพิ่ม คุณเอ๊ย สารพัดคะกว่าจะได้มา ถือเป็นการลงทุน ที่ไม่ใช่แค่ใช้เงินคะ ใช้ความอดทนด้านจิตใจด้วยคะ.บางท่านเกือบท้อคะ แต่ไม่ถอย น่านับถือมาก เสียเงินไม่รู้เท่าไร ทำเรื่องที่อเมริกา แต่ไม่ผ่าน ต้องกลับไปสัมภาษณ์ที่สถานกงศุลอเมริกาที่กรุงเทพกว่าจะได้วีซ่ามา.
ควรเตรียมไว้เลยนะคะ ค่าเช่าอย่างต่ำสัก 3-6 เดือน บวกค่าสารธารณูปโภคต่างๆๆ ด้วยคะ.
กรณีซื้อร้านประเภทอื่นๆ เช่นร้านพิชช่า ร้านแม๊กซิกัน ที่เราต้องมาดัดแปลงเป็นร้านไทย ควรเตรียมค่าปรับปรุงต่าง ๆ ไว้ด้วยคะ เท่าไร ขึ้นอยู่กับมูลค่าร้านคะ ให้ผู้รับเหมาช่วยประเมินได้ มีราคาตั้งแต่ $20,000 – $150,000 เลยคะ อาจจะมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับขนาดของร้านและทำอะไรบ้าง.
Analysis วิเคราะห์
♣ การเตรียมตัวทั้งเงินลงทุน พนักงาน ศึกษาตัวบทกฏหมาย ทำการตลาดเป็น ทำงานเป็นระบบ ทำให้อุปสรรคเหล่านี้กลายเป็นโอกาสได้คะ. แหวนไม่เคยทำร้านอาหารเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารเลยคะ. ทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) จะได้ฟัง ได้ยินเรื่องราวต่างๆๆ ทั้งจากกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการ กลุ่มเพื่อน ๆ ที่เป็นเจ้าของกิจการร้านอาหาร กลุ่มขาจรที่มาขอความเห็น หรืออ่านจากสมาชิกในกลุ่มนะคะ. ไม่ได้มโนน้อมเลย. มีลูกค้าหลาย ๆ รายที่กว่าร้านอาหารจะทำกำไร ต้องฝ่าด่านต่าง ๆ นา ๆ ปีสองปีแรก เงินรายได้เท่ากับค่าใช้จ่าย แถมบางรายที่ต้องซ่อมแซมร้าน ต้องควักกระเป๋าอีกเยอะค่ะ.♣
♣ มีที่รู้จักทำธุรกิจร้านอาหารประสบความสำเร็จมาก ยอดขายเดือนมากกว่า $10,000,000 (มากกว่า 10 ร้าน) แถมมีกำไรหลังหักภาษีมากกว่า 30% ค่ะ. แต่กลุ่มนี้ทำธุรกิจนี้มานาน ลองผิดลองถูก ทำงานเป็นระบบคะ. เท่าที่ทราบปัจจัยหลัก ๆ คือการควบคุมต้นทุนต่าง ๆ การทำงานให้เป็นระบบ ร้านมีชื่อในทำเลที่ดี การมีพนักงานที่ไว้ใจได้. เจ้าของแค่บริหารคะ และก็ขยายกิจการ. บางกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในระบบครอบครัว ก็มีคะ มีกำไรทุกปี. สิ่งที่คนที่ประสบความสำเร็จมีคล้าย ๆ กัน คือ ความอดทน ความเป็นมืออาชีพ ความใจกว้างไม่เอาเปรียบลูกค้าและพนักงาน
♥ ขอสนับสนุนให้ทุกคนสร้างธุรกิจของตัวเองคะ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เราก็ได้เริ่มต้นคะ มีคนไทยเยอะแยะที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ ไม่ใช่แค่ร้านอาหารคะ ทราบเพราะ อยู่ในกลุ่มกฏหมายและรู้จักกับสมาชิกหลาย ๆ ท่านที่เป็นเจ้าของกิจการ ร่ำรวย เหนื่อย แต่มีความสุขกับการทำงาน บางท่านเป็นแม่บ้านคะ เริ่มทำธุรกิจประสบความสำเร็จ. ทำธุรกิจประสบความสำเร็จแล้วก็จ่ายภาษี ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนะคะ จะได้สบายใจในการทำกิจการ♥
♠ ช่วงนี้ใครมีเงินเก็บไว้เลยนะคะ ปีหน้าจะมีร้านอาหารบอกขายเยอะ เนื่องจากนโยบายที่เข้มงวดกับกลุ่มที่อยู่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นกำลังพลส่วนใหญ่ของร้านอาหาร มีผลทำให้ร้านอาหารไม่มีบุคลากร เพราะต้องเลิกจ้างกลุ่มคนที่ไม่มีใบ. ที่สำคัญมีเจ้าของร้านอาหารที่หาคนทำงานยาก อยากเลิกกิจการ ราคาขายน่าสนใจคะ ต่อรองกันได้ดี ♠
เรียบเรียง: แหวนเพ็ชร วังคีรี โรลล์ (ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต)
ที่มา: ประสบการณ์ตรงและจากคนรอบข้าง
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 (2016)